1.เผ่าลาหู่ ลาหู่(มูเซอ) ในประเทศไทยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ ลาหู่นะ(มูเซอดำ) หู่หญี(มูเซอแดง) ซึ่งแยกตัวจากลาหู่นะ ลาหู่แสแล และลาหู่สุญี(มูเซอเหลือง) นักมนุษย์วิทยาพอลและอีเลน สวิส ได้วิเคราะห์วัฒนธรรมของคนลาหู่แล้วได้ลงความเห็นว่า คนลาหู่มีความเชื่อและต้องการที่จะรับพรมากกว่าเผ่าอื่น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกลาหู่นะ (มูเซอดำ) ซึ่งเต้นรำให้ท่านชมอยู่นี้กลายเป็นคริสเตียนไปหมด และลาหู่หญี(มูเซอแดง) เชื่อมันในศาสนาผีบุญ
2.รำนกกิงกะลา เป็นการฟ้อนรำของชาวไทยใหญ่ คำว่ากิงกะลาเพี้ยนมาจาก “กิน-นะ-รา) การรำนกนี้มักจะมีในเทศกาลวันเพ็ญเดือนสิบสอง และเวลามีการแห่ครัวทาน (มีแต่ในภาคเหนือ คล้ายผ้าป่าถวายแต่ของกินและเครื่องใช้ไม่ถวายเครื่องนุ่งห่ม)
3.เผ่าม้ง ม้งหรือแม้วเป็นกลุ่มย่อยของคนเมี้ยว กลุ่มอื่นมี มูมองและมาว มีแต่คนม้งเท่านั้นที่อพยพมาเมืองไทย ส่วนคนกลุ่มอื่นที่ยังอยู่ในเมืองจีน ม้งในประเทศไทยยังแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ม้งเขียว(ม้งจั้ว) ซึ่งผู้หญิงของพวกเขาเหล้าผมมวยใหญ่และนุ่งกระโปรงพลีท กับม้งขาว(ม้งด๊าว) ผู้หญิงพวกเขาใส่กางเกงและโพกผม ม้งเป็นชาวเขาเผ่าเดียวที่รู้ยักใช้ปาเต๊ะทำลวดลายบนเสื้อผ้า คนม้งอยู่ในเมืองจีนมาก่อนคนจีนตามแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียว แต่ได้ถอยร่นหนีคนจีนลงมาทางตอนใต้ จึงทำให้พวกเขาต้องการอิสรภาพจากอิทธิพลภายนอกมาก
4.เผ่าเมี่ยน เมี่ยนไม่มีการแยกเป็นกลุ่มย่อย แต่ตัวเองเป็นกลุ่มย่อยของเย้า กลุ่มย่อยอื่นมี ปู้นู๋ อิ่วเหงี่ยน และลักเขีย ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองจีน รวมทั้งคนเมี่ยนบางส่วนด้วย เมี่ยนเป็นชาวเขาเผ่าเดียวที่มีตัวหนังสือใช้มาหลายร้อยปี โดยการยืมเอาอักษรจีนมาเขียนในภาษาของพวกเขา เพื่อจารึกพิธีทางศาสนาเต๋าโบราณ จดประวัติของตระกูล และใช้เขียนสัญลักษณ์ต่าง ๆ และจดหมาย นอกจากนี้คนเมี่ยนยังชอบเอาเด็กเผ่าอื่น ไทยใหญ่และไทยมาเลี้ยงเป็นลูกโดยให้ความรักเสมอภาคเทียบเท่าลูกจริง ๆ ของตนเอง เด็กพวกนี้เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นคนเมี่ยนโดยสมบูรณ์ เป็นกำลังทำงานอีกกำลังหนึ่ง มากกว่า 10% ของจำนวนประชากรเมี่ยน เป็นลูกเลี้ยง พวกเมี่ยนถือเรื่องการวางตัว ที่เหมาะสมว่าสำคัญมาก ดังนั้นเมื่อมีงานสังคมพวกเขาจึงไม่ชอบการเต้นรำเพื่อความรื่นเริง แต่จะชอบคุยกันและเล่านิทานมากกว่า จะเต้นรำก็เพื่อพิธีทางศาสนาเท่านั้น
5.ฟ้อนมองกาก ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวไทยใหญ่ มอง แปลว่า ฆ้อง กาก แปลว่า ไม้คนข้าว รวมกันแล้วมองกาก คือการเอาไม้ไผ่มาตีกันให้เกิดจังหวะ มีทั้งหมด 3 จังหวะ คือ เสียงกลองยาว เสียงกลอง มองเชิง และเสียงนกโพระดก
6.เผ่าลีซู ลีซู(ลีซอ) มีอยู่ 2 กลุ่ม ลีซอดำอาศัยอยู่ในจีนและพม่า ชอบแต่งตัวสีมืด ส่วนลีซูดอกอาศัยอยู่ในประเทศไทย ชอบแต่งตัวสีสดและชอบแข่งขันกันเป็นเอก ทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเขา เพื่อน ญาติ หมู่บ้าน และสมบัติของเขาต้องดีกว่า เหนือกว่าคนอื่น จึงทำให้เครื่องแต่งตัวของผู้หญิงลีซูดอกสวยขึ้น และมีต่อเติมเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อแต่งตัวเต็มที่แล้ว เครื่องเงินจะหนักถึง 2 กก. ลีซูเป็นเผ่าที่ไม่กลัวใครและชอบลองของใหม่มากที่สุด นอกจากนี้พวกเขายังชอบเรียนรู้ภาษาอื่นด้วยเพราะภาษาลีซูเป็นภาษาที่ยากเกินกว่าคนเผ่าอื่นจะมาหัดพูด
7.รำดาบไฟ ใช้รำปลุกขวัญทหารก่อนออกรบในสมัยโบราณ
8.เผ่าอาข่า วัฒนธรรมของคนอาข่า(อีก้อ) ทำให้พวกเขามองชีวิตของคนในเผ่าเป็นการต่อเนื่องกัน เด็กเกิดมาเป็นประกันว่าเผ่าจะไม่สูญพันธุ์ พอโตขึ้นกลายเป็นผู้สร้างเผ่าและเป็นผู้รักษา “วีถีชีวิตอาข่า” ในที่สุดก็ตาย และกลายเป็นวิญญาณบรรพบุรุษคอยปกป้องลูกหลานต่อไป กฎต่าง ๆ เหล่านี้ครอบคลุมทุกคนในเผ่าตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นแนวทางสอนและแนะนำทุกคนในเรื่องของกฎหมายของเผ่า ประเพณี ศาสนา ยาและการรักษาโรค กสิกรรม สถาปัตยกรรม การตีเหล็กและการทำของเครื่องใช้เครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำเพราะพวกเขาไม่มีตัวหนังสือใช้ “วิถีชีวิตอาข่า” ได้ถูกแต่งเป็น ร้อยกรองในภาษาของเขายาวกว่าหมื่นบรรทัด
ผู้หญิงอาข่าในเมืองไทยแต่งตัวเป็น 3 แบบ คือ อูโล้ แต่งโดยพวกที่อยู่ในเมืองไทยมานานแล้ว หล่อมิ แต่งโดยพวกที่เพิ่งย้ายมาจากพม่า ผาหมี แต่งโดยผู้หญิงในตระกูลหม่องโปเท่านั้น ผู้แสดงของเราแต่งแบบ อูโล
คนแต่งงานแล้วสวมหมวกทรงสูง(อูเชอะ) ส่วนคนที่เป็นโสดและเด็กสวมหมวกทรงต่ำ(อูโกะ)
9.รำฝัดข้าว เป็นการฟ้อนรำของชาวนาในประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองรื่นเริงในปีที่เก็บเกี่ยวข้าวได้อุดมสมบูรณ์ เครื่องแต่งกายเลียนแบบเครื่องแต่งกายของชาวนาในชนบทของจังหวัดเชียงใหม่
![]() |
การแสดงชาวเขา ของ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ |
![]() |
ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ บริการ ขันโตกดินเนอร์ พร้อม การแสดง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น